การขอรับบำเหน็จบำนาญ หมายถึง เจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย เมื่อออกจากงานจะได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ เนื่องมาจากเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
1) เหตุทดแทน 2) เหตุทุพพลภาพ 3) เหตุสูงอายุ 4) เหตุทำงานนาน
ก็มีสิทธิรับบำนาญโดยมีวิธีคิด ดังนี้
(เงินเดือน ๆ สุดท้าย X อายุงาน)
50
** กรณีเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสภากาชาดไทย เงินบำนาญลดลง 20 %
ซึ่งเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทยทุกท่านต้องยื่นแบบขอรับเงินบำนาญผ่านต้นสังกัด
ปัจจุบันเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทยที่บรรจุตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2549 ได้ยกเลิกบำเหน็จบำนาญแล้วโดยมีเหตุผลดังนี้
1) สภากาชาดไทย เป็นองค์กรสาธารณกุศล ได้รับเงินอุดหนุนมาจากรัฐบาล ซึ่งเป็นแค่บางส่วน เนื่องจากภารกิจของสภากาชาดไทยช่วยสนับสนุนงานของรัฐบาล รัฐบาลจะสนับสนุนโดยเฉลี่ยปีละ 30% ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนที่เหลือก็ได้มาจากการให้บริการและการบริจาคของประชาชน งบประมาณค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลให้มาทางสำนักงานการคลังก็จะนำตั้งเป็นงบประมาณด้านบุคลากรให้ ซึ่งขณะนี้คิดเป็นร้อยละ 70 ของเงินที่ได้มาจากรัฐบาล ส่วนที่เหลือแค่ 30% ก็จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ส่วนงบประมาณบำเหน็จบำนาญ สภากาชาดไทยต้องหาเองขณะนี้จ่ายอยู่ที่ 300 กว่าล้านบาทต่อปี ส่วนงบประมาณในการดำเนินการแต่ละหน่วยงานที่ให้บริการก็จะได้รับเงินจากค่าบริการมาจัดทำเป็นเงินทุนหมุนเวียน และใช้สำหรับพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์
2) สภากาชาดไทยได้เคยศึกษาเรื่องการหาระบบที่มาทดแทนระบบบำเหน็จบำนาญมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539 และได้มีการศึกษามาตลอดจนกระทั่งให้ธนาคารกสิกรไทยมาช่วยศึกษารายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับระบบงานบำเหน็จบำนาญ และการศึกษาตัวเลขล่วงหน้าว่า หากยังคงมีระบบบำเหน็จบำนาญแล้ว ในอีก 30 ปีข้างหน้า สภากาชาดไทยจะต้องจ่ายบำนาญปีละ 1,500 ล้านบาท ดังนั้น หากในอนาคตสภากาชาดไทยจะต้องหาเงินมาจ่ายบำนาญปีละ 1,500 ล้านบาทนั้น คงจะเป็นสิ่งที่ยาก จึงได้มีนโยบายในการหาระบบอื่นมารองรับเพื่อมีการยกเลิกบำเหน็จบำนาญ โดยให้คนที่ยังอยู่ในระเบียบเดิมได้รับบำเหน็จบำนาญ คนใหม่ที่เข้ามาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 ให้สมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแทน ซึ่งเป็นระบบการออมเงินโดยส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง