การลาศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย ณ ต่างประเทศ
คุณสมบัติของผู้ที่จะลาศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย ณ ต่างประเทศ
1. เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานในสภากาชาดไทย ไม่น้อยกว่า 1 ปี และผ่านการทดลองการปฏิบัติงาน
2. ผู้ไปศึกษาขั้นสูงกว่าปริญญาตรี ต้องมีอายุไม่เกิน 40 ปี นับถึงวันเดินทางไปต่างประเทศ ยกเว้นผู้ที่ลาไปอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย
3. เป็นผู้ที่ผู้บังคับบัญชารับรองว่ามีความประพฤติดีและตั้งใจปฏิบัติหน้าที่
4. เป็นผู้ที่ไม่อยู่ในระหว่างถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย หรือถูกฟ้องคดีอาญา ยกเว้นความผิดอาญาที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
5. เป็นผู้ที่ได้รับการรับรองจากผู้บังคับบัญชาชั้นต้น และผู้อำนวยการหน่วยงานต้นสังกัดอนุญาตให้ไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย
6. เป็นผู้มีความรู้ภาษาต่างประเทศในระดับที่หลักสูตรกำหนด
7. เป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง และมีสุขภาพอนามัยดี โดยผ่านการตรวจรับรองจากแพทย์ของสภากาชาดไทยหรือตามที่หลักสูตรกำหนด ยกเว้นผู้ลาไปอบรม
8. ผู้ที่เคยได้รับอนุญาตให้ไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย ณ ต่างประเทศมาแล้วจะต้องกลับมาปฏิบัติงานให้สภากาชาดไทยภายหลังจากสำเร็จการศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี จึงจะมีสิทธิได้รับการพิจารณาให้ลาไปอีกได้
9. สำหรับผู้ที่จะลาไปปฏิบัติการวิจัย ณ ต่างประเทศ จะต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติม ดังนี้
9.1 คุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
9.2 เป็นผู้ที่หน่วยงานต้นสังกัดรับรองว่ามีประสบการณ์ในด้านการวิจัย หรืองานสอน หรือปฏิบัติงานรับผิดชอบในเรื่องที่จะทำการวิจัยมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และมีความเหมาะสมในการปฏิบัติการวิจัย
แนวทางการพิจารณาการลาศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย ณ ต่างประเทศ
1. ให้หน่วยงานต้นสังกัดพิจารณาถึงความจําเป็นของหน่วยงานที่จะได้ผู้ที่มีความรู้ความชํานาญในสาขาวิชา และระดับความรู้ที่เหมาะสมแก่หน้าที่ความรับผิดชอบ และแผนงาน หรือโครงการที่จะให้ผู้ไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัยกลับมาปฏิบัติงานไว้ล่วงหน้าเป็นการแน่นอน
2. หน่วยงานต้นสังกัดต้องพิจารณาถึงอัตรากำลังที่มีอยู่ โดยให้มีผู้ปฏิบัติงานเพียงพอ ไม่เสียงานและไม่ขออัตรากำลังเพิ่ม
3. สาขาวิชาและระดับการศึกษา ต้องเป็นประโยชน์ต่องานที่ปฏิบัติและสอดคล้องกับมาตรฐานกําหนดตําแหน่งที่สภากาชาดไทยกําหนด และต้องเป็นสาขาและระดับที่ทางสภากาชาดไทยต้องการ ซึ่งไม่มีการศึกษาในประเทศ หรือมีแต่ยังไม่เพียงพอหรือไม่สูงพอ
4. จะต้องไปศึกษาในสถานศึกษาหรือสถาบันการศึกษาที่สภากาชาดไทยอนุมัติ
5. การลาไปปฏิบัติการวิจัยให้หน่วยงานต้นสังกัดพิจารณาว่าเป็นการวิจัยที่สอดคล้องกับโครงการ/แผนงานที่หน่วยงานดำเนินงาน โดยมีการกำหนดผู้รับผิดชอบและงบประมาณรองรับชัดเจน หรือหากเตรียมที่จะดำเนินงานจะต้องมีแผนงานรองรับที่ชัดเจนที่จะให้ผู้ที่จะลาไปปฏิบัติการวิจัยกลับมาดำเนินการวิจัยต่อไป
ขั้นตอนการลาศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย ณ ต่างประเทศ
1. ผู้ประสงค์จะลาไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย ณ ต่างประเทศให้เสนอเรื่องขออนุญาตและเหตุผลความจำเป็นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นและให้คณะอนุกรรมการบริหารงานบุคคลต้นสังกัดพิจารณาเพื่อนำเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติ โดยมีเอกสารประกอบการพิจารณา ดังนี้
1.1 หนังสือตอบรับจากสถาบันที่จะไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย
1.2 หลักสูตร หรือโครงการ และระยะเวลาการศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัยตามที่สถาบันนั้น ๆ กำหนด
1.3 หลักฐานการได้รับทุน หรือรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัยตลอดหลักสูตร
1.4 ผลการตรวจร่างกายโดยผ่านการตรวจรับรองจากแพทย์ของสภากาชาดไทยหรือตามที่หลักสูตรกำหนด
1.5 ผลการสอบภาษาต่างประเทศในระดับที่หลักสูตรกำหนด
2. ให้หน่วยงานต้นสังกัดแจ้งให้ผู้ได้รับอนุมัติไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย ณ ต่างประเทศดำเนินการจัดทำสัญญาตามแบบที่สภากาชาดไทยกำหนด ยกเว้น การฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย ซึ่งมีระยะเวลาครั้งหนึ่งไม่เกิน 60 วัน และหรือได้รับเงินจากสภากาชาดไทยไม่เกิน 50,000 บาท
อัตราค่าใช้จ่ายของผู้ที่ได้รับทุนไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย ณ ต่างประเทศ ให้อนุโลมตามอัตราที่ทางราชการกำหนด